Loading...
มหาวิทยาลัยราชภัฎนครสวรรค์
จันทร์ - ศุกร์ : 08.30 - 16.30 น.
056-219100-29
บริการวิชาการ

การอบรมเชิงปฏิบัติการ “ศิลปะการบรรเลงเครื่องดนตรีและการปรับวงดนตรีไทย”

SDGs : 4 11 17

28-29 มีนาคม 2566 สำนักศิลปะและวัฒนธรรม

โครงการเสริมสร้างคุณค่าและรักษ์ท้องถิ่น เพื่อสืบสานศิลปะวัฒนธรรมและความเป็นไทย

และอัจฉริยะภาพด้านดนตรี


กิจกรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการ
“ศิลปะการบรรเลงเครื่องดนตรีและการปรับวงดนตรีไทย”

พื้นที่ดำเนินการ ห้องประชุมชอนตะวัน และห้องประชุมพระบาง ชั้น 4 อาคาร 15 มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์
งบประมาณโครงการ 100,000 บาท
วันที่ดำเนินงาน 28 - 29 มีนาคม พ.ศ. 2566
หลักการและเหตุผล
         ตามกรอบทิศทางการพัฒนาด้านวัฒนธรรมระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) ของกระทรวงวัฒนธรรมนั้น ได้มีแนวคิดในการทำงานด้านวัฒนธรรมร่วมกับภาคีเครือข่ายทางวัฒนธรรมทุกระดับ โดยมีเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางศิลปวัฒนธรรมในระดับนานาชาติ มีภาพลักษณ์ที่ดี และได้รับการยอมรับในเวทีทางวัฒนธรรมระดับสากล ผลักดันสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งคนดี มีคุณธรรม จริยธรรม เอื้ออาทร มีความปรองดองสมานฉันท์เพิ่มมากขึ้น ภายใต้แนวคิด “วัฒนธรรมสร้างคนดี สังคมดี สร้างรายได้ สร้างภาพลักษณ์และ เกียรติภูมิประเทศไทยในเวทีโลก” โดยเฉพาะมีเป้าหมายในการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนไทยเล่นดนตรี นาฏศิลป์ ศิลปะการแสดง อย่างน้อย 1 อย่าง ทั้งนี้ เพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟูมรดกทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมทั้งความหลายหลายของศิลปวัฒนธรรมไทย
         อย่างไรก็ตาม การเลื่อนไหลของวัฒนธรรมต่างชาติที่เข้ามาในวัฒนธรรมไทยผ่านสังคมยุคดิจิทัล เกิดขึ้นในขณะที่คนไทยโดยเฉพาะเยาวชนไม่สามารถเลือกรับวัฒนธรรมได้อย่างเหมาะสม จึงส่งผลให้เกิดวิกฤติค่านิยม และทัศนคติที่หันไปนิยมวัฒนธรรมต่างชาติจนละเลยความเป็นไทย โดยเฉพาะการเล่นหรือการฟัง “ดนตรีไทย” ส่วนหนึ่งเป็นเพราะวัฒนธรรมและดนตรีจากต่างชาติเข้ามามีบทบาทในสังคมไทยเป็นอย่างมาก อีกทั้งเยาวชนไทยยังสามารถเข้าถึงเพลงในรูปแบบต่าง ๆ นั้น และเลือกฟังได้อย่างอิสระผ่านอินเตอร์เน็ท จึงทำให้การฟัง การขับร้อง โดยเฉพาะการบรรเลงดนตรีไทย ได้รับความนิยมอยู่เพียงเฉพาะกลุ่มคนเท่านั้น 
         ทั้งนี้ การบรรเลงดนตรีไทย เป็นศิลปะทางวัฒนธรรมด้านการปฏิบัติเครื่องดนตรีไทย โดยการดีด สี ตี และเป่า เพื่อให้เกิดเสียงและจังหวะตามท่วงทำนองที่ผู้ประพันธ์ได้เรียบเรียงไว้ การบรรเลงดนตรีไทยสามารถแบ่งออกเป็นประเภทต่าง ๆ หลายรูปแบบด้วยกัน ทั้งการบรรเลงเดี่ยว และบรรเลงหมู่ ในการบรรเลงดนตรีไทย ผู้บรรเลงต้องใช้เทคนิคในการบรรเลงแตกต่างกันไปตามลักษณะของเครื่องดนตรีและอารมณ์เพลง เทคนิคสำคัญในการบรรเลงดนตรีไทยจึงต้องจำแนกตามประเภทของเครื่องดนตรี ทั้งเครื่องตี (ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ฆ้องวงใหญ่ และฆ้องวงเล็ก) เครื่องดีด (จะเข้ พิณ และซึง) เครื่องสี (ซอด้วง ซออู้ และซอสามสาย) เครื่องเป่า (ขลุย และปี่) เครื่องตีกำกับและประกอบจังหวะ
นอกจากนี้ การปรับวงดนตรีไทย ก็เป็นกระบวนการที่มีขั้นตอนที่มุ่งให้วงดนตรีไทยวงนั้น ๆ มีคุณภาพในการบรรเลงดีขึ้น โดยให้การบรรเลงของเครื่องดนตรีทุกชิ้นในวงดำเนินไปอย่างสอดคล้องกลมกลืน เป็นไปตามความหมายและอารมณ์ของเพลง ดังนั้นเพลงที่เกิดจากการบรรเลงรวบรวมวงซึ่งได้รับการปรับวงแล้ว จึงมีความไพเราะงดงามขึ้น โดยมีองค์ประกอบที่สำคัญ คือ นักดนตรี เครื่องดนตรี เพลง และผู้ปรับวง
         นอกจากนี้ การปรับวงดนตรีไทย ก็เป็นกระบวนการที่มีขั้นตอนที่มุ่งให้วงดนตรีไทยวงนั้น ๆ มีคุณภาพในการบรรเลงดีขึ้น โดยให้การบรรเลงของเครื่องดนตรีทุกชิ้นในวงดำเนินไปอย่างสอดคล้องกลมกลืน เป็นไปตามความหมายและอารมณ์ของเพลง ดังนั้นเพลงที่เกิดจากการบรรเลงรวบรวมวงซึ่งได้รับการปรับวงแล้ว จึงมีความไพเราะงดงามขึ้น โดยมีองค์ประกอบที่สำคัญ คือ นักดนตรี เครื่องดนตรี เพลง และผู้ปรับวง
         จะเห็นได้ว่า ในสังคมและวัฒนธรรมไทยนั้น ดนตรีไทยเป็นงานศิลปะที่บ่งบอกให้รู้ถึงความเป็นชาติ เป็นสื่อกลางของกิจกรรมทางประเพณีของไทย และยังเป็นศิลปวัฒนธรรมแขนงหนึ่งที่มีเอกลักษณ์บ่งบอกถึงความเจริญรุ่งเรืองที่มีมาตั้งแต่อดีตจนกระทั่งปัจจุบัน แสดงถึงภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่ได้สร้างสรรค์เป็นมรดกทางปัญญาที่ควรได้รับการอนุรักษ์และส่งเสริม เผยแพร่ ให้กับคนรุ่นหลังได้สืบสานวัฒนธรรมดนตรีไทยอันดีไว้ต่อไป
         ดังนั้น เพื่อเป็นการสืบสานวัฒนธรรมอันดีงามของการบรรเลงดนตรีไทย ซึ่งสืบทอดและปฏิบัติกันมาแต่โบราณ สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ในฐานะหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบดูแลด้านการทำนุบำรุงศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี วิถีชีวิต และคุณธรรมจริยธรรมที่ดีงามของไทย ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการปลูกฝังและถ่ายทอดความรู้ด้านดนตรีไทย จึงได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “ศิลปะการบรรเลงเครื่องดนตรีและการปรับวงดนตรีไทย” ขึ้น เพื่อปลูกฝังศิลปวัฒนธรรมที่ดีงามให้แก่เด็กและเยาวชนไทย และสามารถนำทักษะทางด้านดนตรีที่ได้รับนี้ ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในด้านการฝึกสมาธิ เกิดความสนุกสนาน หรือนำไปใช้ประกอบการแสดงต่าง ๆ ทางด้านพิธีกรรม และที่สำคัญคือเป็นประโยชน์ด้านการอนุรักษ์มรดกไทยที่จะมีส่วนช่วยกันรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีไทยให้คงอยู่ไปยังคนรุ่นหลังสืบต่อไป

วัตถุประสงค์
         1.เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเทคนิคการบรรเลงเครื่องดนตรีไทย และ  การปรับวงดนตรีไทย และสามารถนำไปพัฒนาตนเองและถ่ายทอดให้กับผู้อื่นได้อย่างถูกต้อง
         2. เพื่อให้เด็กและเยาวชนเกิดความตระหนักรู้และเห็นความสำคัญของดนตรีไทยที่มีต่อความเป็นชาติไทย
         3. เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีจิตสำนึกร่วมกันในการอนุรักษ์ ส่งเสริม และสืบสานวัฒนธรรมไทย
         4. เพื่อสร้างเครือข่ายในการอนุรักษ์ ส่งเสริม และสืบสานวัฒนธรรมไทยร่วมกับโรงเรียนต่าง ๆ ของจังหวัดนครสวรรค์

ผลผลิต (Output)
         1. เยาวชน นักศึกษา และบุคคลทั่วไป ได้รับการพัฒนาความรู้และเทคนิคการบรรเลงเครื่องดนตรีไทย และการปรับวงดนตรีไทย ด้วยการฝึกปฏิบัติจริงและร่วมแสดงผลงานในวันอนุรักษ์มรดกไทย ประจำปีพุทธศักราช 2566
         2. การแสดงบรรเลงดนตรีวงมหาดุริยางค์ไทย บทเพลงเทิดพระเกียรติและบทเพลงพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันอนุรักษ์มรดกไทย ประจำปีพุทธศักราช 2566 ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ โดยมี นักเรียนจากโรงเรียนในจังหวัดนครสวรรค์ และนักศึกษาสาขาวิชาดนตรี คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์  ทำการบรรเลงดนตรีไทยร่วมกัน
         3. สถาบันการศึกษามีส่วนร่วมในการสนับสนุนนักเรียน นักศึกษาในการพัฒนาศักยภาพด้านการบรรเลงดนตรีไทย

ผลลัพธ์ (Outcome)
         1. มีการพัฒนาความรู้และทักษะด้านศิลปวัฒนธรรมให้กับเยาวชน นักเรียนนักศึกษา คณาจารย์และบุคคลทั่วไป  เพื่อให้เกิดการสืบสานและสืบทอดทางวัฒนธรรมอย่างรู้คุณค่า
         2. มีการบูรณาการศิลปวัฒนธรรมร่วมกับการเรียนการสอนและการให้บริการวิชาการ เพื่อให้เยาวชนเกิดภาคภูมิใจในความเป็นไท และรักษ์ท้องถิ่น

ผลกระทบ (Impact)
         1. เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือ ด้านวงดนตรีไทย  ในการอนุรักษ์ ส่งเสริม และสืบสานวัฒนธรรมไทยร่วมกับโรงเรียนต่าง ๆ ของจังหวัดนครสวรรค์

ผู้รับผิดชอบโครงการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทัศนีพร วิศาลสุวรรณกร  รองผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม
และนางสาวชัญภร  สาทประสิทธิ์  หัวหน้าสำนักงานผู้อำนวยการ